สวัสดีครับทุกท่าน
เครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ (เครือข่าย พพ.) ได้ออกมาขับเคลื่อนต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมที่ครอบครัวคนพิการถูกเลือกปฏิบัติและถูกโกงสิทธิ์อันชอบธรรมตามกฎหมายจากกลุ่มบุคคล
องค์กร และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันทุจริตคอรัปชั่นและประพฤติมิชอบ
ตลอดเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่หนังสือร้องเรียนฉบับแรกที่ออกจากเครือข่าย
พพ. ในปี 2559 ถึงปัจจุบัน
เราได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่มีอำนาจตามกฎหมายได้พิสูจน์ตัวเองว่าคนที่กินภาษีของประชาชนและต้องทำเพื่อประชาชนได้ทำหน้าที่ของความเป็นข้าราชการแล้วหรือยัง
แต่
5 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า ไม่มีใครผิดแม้สักคนเดียว
ไม่มีเจ้าหน้าที่ผิดละเว้นปฏิบัติหน้าที่ทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง
ไม่มีผู้นำคนพิการรายใดในระดับพื้นที่ และระดับสมาคมส่วนกลาง ได้รับโทษจากการทุจริตที่มีหลักฐานชัดเจน
คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ ที่ถูกกระทำจากกลุ่มทุจริตเหล่านี้ นอกจากไม่ได้รับการเยียวยา
บางรายกลับถูกกีดกันกลั่นแกล้งจากข้าราชการในพื้นที่ ในฐานะที่ออกมาร้องเรียน คนพิการบางรายเสียชีวิตไปแล้ว
ตายไปพร้อมๆ กับความอยุติธรรม
ตัวผมเองที่เป็นประธานเครือข่าย
พพ. ถูกฟ้องศาลคดีอาญา และคดีแพ่ง รวมกันถึง 5 คดี
พ่วงการถูกแจ้งความดำเนินคดี 1 คดี และในระดับจังหวัด รอง ปธ.เครือข่าย พพจ.สมุทรสาคร
ก็ถูกฟ้องศาลคดีอาญาอีก 1 คดี รอง ปธ.เครือข่าย พพ. (ส่วนกลาง)
ถูกแจ้งความดำเนินคดีอีก 1 คดี ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งสิ้นสมาชิกในเครือข่าย
พพ. ถูกฝ่ายตรงข้ามดำเนินการใช้กฎหมายรวมกัน 8 คดี
ฝ่ายตรงข้ามนอกจากจะใช้วิธีโกหกหน้าเศร้าเล่าความเท็จแล้ว
ยังใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการหยุดการต่อสู้ของเครือข่ายเราอีก
แต่พวกเราก็ใช้ความจริงและข้อมูลหลักฐานเข้าต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามอย่างอดทน
จนในที่สุดแทบทุกคดีเราชนะหมด
เหลือเพียง 2 คดีล่าสุดเท่านั้น คือ คดีในจังหวัดสมุทรสาคร
ที่กำลังดำเนินไปตามขั้นตอน และคดีแพ่งของผมเอง
ที่ท่านผู้พิพากษาได้จำหน่ายคดีไว้ก่อน
เพื่อรอให้มีการแถลงผลการฎีกาของฝ่ายตรงข้ามจึงจะมีข้อยุติ พวกเราทุกคนในเครือข่าย
พพ. ไม่มีใครมีความรู้ด้านวิชาชีพกฎหมาย แต่เราโชคดีที่ได้ทนายความ 2
ท่านที่เข้ามาดูแลคดีความให้เครือข่าย พพ. ทั้งหมดทุกคดี คือ ทนายดุสิต
สุวรรณวงศ์ และทนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ดังนั้นในบทความสำคัญนี้
ผมจึงขอพาทุกท่านได้อ่านบทสัมภาษณ์ขั้นต้นของทนายความของเรา
โดยในบทความนี้จะเป็นการสัมภาษณ์ ทนายดุสิต สุวรรณวงศ์ ซึ่งเป็นทนายและที่ปรึกษาอาวุโส
ครับ
ปรีดา: สวัสดีครับพี่ดุสิต
ผมขออนุญาตเรียกพี่ว่า “พี่ดุสิต” นะครับ ผมขอเวลาพี่ดุสิตเพื่อสัมภาษณ์พี่ที่เป็น
“ทนายประจำเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ” นะครับ สังคมจะได้ทราบถึงการที่ทางเครือข่ายฯ
ออกมาขับเคลื่อนแล้วจะต้องถูกฟ้อง ทางเครือข่าย พพ. มีทนายมืออาชีพเก่งๆ
ที่เข้ามาช่วยทุกๆ คนในเครือข่ายฯ ผมขอเริ่มสัมภาษณ์ในช่วงแรก
อยากให้พี่ดุสิตแนะนำตัวให้ทุกท่านได้รู้จักครับ
ทนายดุสิต: ได้ครับ
ผมทำอาชีพทนายมากว่า 30 ปี ผมว่าความทั้งคดีอาญา และคดีแพ่ง ทั้งในกรุงเทพมหานคร
ปริมณฑล ผมได้ว่าความ ครบทุกเขต ทุกจังหวัดแล้ว สำหรับสาเหตที่ได้เข้ามาทำคดีนี้ คดีที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ
เพราะผมเห็นว่าคุณปรีดา ลิ้มนนทกุล มีอุดมการณ์ในการต่อสู้ เพื่อให้เกิดความถูกต้องในกลุ่มคนพิการ
เนื่องจากมีคนพิการบางกลุ่มบางเหล่าที่ใช้คนพิการเป็นเครื่องมือในการทุจริตมากอบโกยโดยอาศัยความเปราะบาง
อาศัยจุดอ่อนของคนพิการที่ไม่ทราบเรื่องกฎหมาย และความสามารถในการทำมาหากิน
ในการเข้าถึงกฎหมาย อุดมการณ์ของคุณปรีดาตรงนี้ผมเลยเข้ามาช่วย
โดยเฉพาะคดีที่คุณปรีดาถูกฟ้องเพราะไปเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตของผู้นำคนพิการบางคนซึ่งขณะนี้มีถึง
5-6 คดีแล้ว นะครับ
ปรีดา: พี่ดุสิตครับ
ผมอยากให้พี่ได้พูดถึงคดีที่จังหวัดสมุทรสาครด้วยนะครับ เพราะผมชอบที่พี่ดุสิต
พูดกับผมว่า “เอาให้จบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนี่ละ” ซึ่งมันก็จบตรงนั้นจริงๆ
ครับ
ทนายดุสิต: สำหรับคดีที่สมุทรสาคร
โจทก์เป็นผู้นำคนพิการ เป็นนายกสมาคมแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร
แล้วก็ใช้อำนาจหน้าที่ส่อไปในแนวทางที่มิชอบ ที่เอาคนพิการไปเป็นเครื่องมือ
เขาฟ้องคุณปรีดาที่ไปเปิดโปงการทุจริตในคดีหมิ่นประมาท และเราก็ชนะคดีไปแล้ว
โดยศาลตัดสินไปแล้วว่าคุณปรีดาใช้สิทธิ์ไปในทางสุจริต จึงไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท
ซึ่งทางโจทก์ได้เอาคนพิการเข้าโครงการตามมาตรา 35 แล้วก็ไม่ได้ทำให้ถูกต้อง
โดยคุณปรีดาเปิดโปงก็ไม่ใช่เฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาครจังหวัดเดียว
แต่เปิดโปงทั้งระบบ เพียงแต่จังหวัดสมุทรสาครเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่สงสัยว่าส่อไปในทางไม่ชอบมาพากล ซึ่งในที่สุด ศาลท่านก็ยกฟ้องครับ
สมาชิกเครือข่าย พพ. ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับทนายดุสิต สุวรรณวงศ์ (ขวาสุด) |
ภาพถ่ายทนายดุสิต สุวรรณวงศ์ ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีที่ศาล จ.สมุทรสาคร |
ปรีดา: พี่ดุสิตครับ
ในคดีนี้ ผลตอบกลับที่เป็นหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ที่ระบุว่านายกสมาคมคนนี้กระทำความผิด ถือว่ามีผลต่อการนำไปพิจารณาคดีของท่านผู้พิพากษาไหมครับ
ทนายดุสิต: แน่นอนมีผลอย่างมากเลยครับ
ทั้งหนังสือดีเอสไอ ทั้งรายงานการประชุมที่มีตัวแทนของสถานประกอบการได้จัดประชุม
ซึ่งโจทก์ไม่สามารถให้คำตอบอย่างโปร่งใสได้ เกี่ยวกับเรื่องเงิน เกี่ยวกับเรื่องรถ
ซึ่งที่ถูกต้องแล้วควรจะเป็นของคนพิการ แต่คนพิการก็ไม่ได้รับอะไร โครงการส่งเสริมอาชีพคนพิการที่ทำขึ้นมาแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ในที่สุดทั้งรถ
ทั้งเครื่องมือทำมาหากิน ทั้งที่ตั้งร้านก็ไม่ใช่จุดที่คนพิการจะขายสินค้าได้
เป็นการทำโครงการที่ส่อไปในทางที่ไม่ชอบมาพากลครับ
ปรีดา: พี่ดุสิตครับ
ผมจำได้ว่า ตอนที่พี่รับทำคดีนี้พี่ต้องศึกษากฎหมายของคนพิการอย่างมากเลย
ผมอยากให้พี่ช่วยแสดงความคิดเห็นตรงนี้ด้วยนะครับ
ทนายดุสิต: ใช่ครับ
ผมก็ศึกษาเรื่องมาตรา 33, 34 และมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ซึ่งมีปัญหาในเชิงปฏิบัติว่าทำให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน
ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสิทธิ์ ที่เชื่อมต่อไปยังสถานประกอบการเอกชน ที่มีคนงานถึง
100 คนขึ้นไป จึงเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้นำคนพิการที่รวบรวมคนพิการไว้ในมือ
อ้างสิทธิ์คนพิการ แล้วนำไปทำมาหากินทำโครงการที่อ้างกฎหมาย
แล้วทำให้มีปัญหาอยู่เยอะมากในขณะนี้แทบจะทุกโครงการครับที่มีการดำเนินการแบบไม่ตรงไปตรงมา แต่รัฐก็ยังเพิกเฉยเพราะเห็นว่าคนที่โกงเป็นผู้นำคนพิการซึ่งก็พิการ
ก็เลยอาจจะมีทัศนคติว่าไม่อยากให้คนพิการติดคุกหรืออย่างไร
มันก็เลยเป็นปัญหาคาราคาซัง คุณปรีดาก็ต่อสู้
ก็มีการเดินจากกาฬสินธุ์มาถึงกรุงเทพมหานครเนี่ย
แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเลย เรามีนักการเมืองแล้วแต่ก็ไม่ได้พยายาม
ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะแก้ไขเลยเช่นกันทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการพิทักษ์สิทธิ์
แต่แล้วเดี๋ยวมันก็จะผ่านไปครับ ต้องใช้เวลาอีกสักระยะจะค่อยๆ ดีขึ้นครับ
ปรีดา: ผมรบกวนพี่ดุสิตช่วยแบ่งปันมุมมองให้ทุกคนได้อ่านกัน
เกี่ยวกับเรื่องคดีแจ้งความอันเป็นเท็จ ที่ผมถูกฟ้องเป็นจำเลย
อีกคดีที่พี่ดุสิตเข้ามาดูแล ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยนะครับ
เพราะตอนนั้นที่พี่รับทำคดีนี้
มันเร่งด่วนมากครับ ซึ่งคดีนี้นับเป็นคดีแรกในชีวิตของผมด้วยครับ
ทนายดุสิต: สำหรับคดีอาญาข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่
ตามข้อเท็จจริงคุณปรีดาไม่ได้แจ้งความเท็จเลย เอาความจริงไปแจ้งว่า ผู้นำคนพิการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หาว่าเราโกงกิน ในเชิงทุจริต ซึ่งคุณปรีดาก็ไปแจ้งความ แต่เจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่อยากให้มีเรื่องมีราวกัน
คุณปรีดาจึงถอนแจ้งความมันก็ไม่ได้เกิดความเสียหายขึ้น
พอเขาไปฟ้องร้องว่าคุณปรีดาแจ้งความอันเป็นเท็จ ซึ่งอันที่จริงแล้วกรณีนี้ถ้าจะต้องฟ้องจริงๆ
ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฟ้องคุณปรีดาว่าแจ้งความอันเป็นเท็จเพราะเจ้าหน้าที่เสียหายนะครับ
แต่ในท้ายที่สุดแล้ว
เราก็ชนะคดีเพราะว่า เราพูดจริง เรามีพยานจริง พยานเราเป็นผู้รับฟังมาจริง
ซึ่งในที่สุดศาลท่านก็เห็นว่า เรามีประจักษ์พยาน คือ จำเลยที่ 2
เบิกความเป็นประโยชน์กับเราว่า ผู้นำคนพิการคนนี้เป็นคนพูดในทำนองว่าเราทุจริตจริง
แล้วเราก็ถอนเรื่องออกไปแล้ว
ศาลท่านจึงเห็นว่าเรามีประจักษ์พยานและไม่ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จครับ
ปรีดา: ครับพี่ดุสิต
ถึงตรงนี้ผมขอสรุปจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ตามความเข้าใจของผม ในส่วนการพิจารณาคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์
2 ปาก กลับให้การเป็นประโยชน์กับเราทั้งสองปาก คือ
เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ให้การว่าตัวผมรับฟังจากจำเลยที่ 2
แล้วแจ้งความตามคำให้การของจำเลยที่ 2 จึงแจ้งความตามความเป็นจริง
ส่วนพยานอีกคนซึ่งเป็นภรรยาของโจทก์ ก็ให้การเป็นประโยชน์ตรงประเด็นที่ผมกับโจทก์มีเรื่องที่ผิดใจกัน
ดังนั้นการกล่าวหาว่าผมมีเบอร์มือถือของโจทก์ หรือผู้นำคนพิการคนนี้ แล้วผมต้องโทรไปคุยสอบถามนั้นฟังไม่ขึ้นครับ
ทนายดุสิต: ใช่ครับ
มันไม่ใช่หน้าที่อะไรของเราที่ถูกกล่าวหาแล้วจะต้องโทรไปถามเขาว่าจริงหรือไม่จริง มันไม่ใช่เรื่องน่าสงสัยหรือผิดปกติอะไร
เพราะเราเป็นผู้เสียหายในชั้นต้น เราถูกเขาว่าเราไม่มีความจำเป็นต้องโทรไปถามอะไรเพราะเรามีประจักษ์พยานตรงนี้อยู่แล้วครับ
ปรีดา: ผมยังจำได้ว่าทางทนายโจทกย์เขียนอุทธรณ์ว่าผมต้องเป็นผู้พิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยครับ
ทนายดุสิต: ในทางคดีอาญา
“การพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ฝ่ายโจทก์เป็นผู้นำสืบเสมอ”
ต้องสืบให้ได้ความว่ามีความชัดเจนว่าจำเลยได้กระทำความผิด
หน้าที่นำสืบไม่ได้อยู่ที่จำเลย ศาลท่านจะฟังพยานจากฝ่ายโจทก์ถึง 90% เลย อาจถึง 100% แต่ถ้าโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้สมกับที่กล่าวอ้างว่าจำเลยผิด
ก็ต้องแพ้คดีไปครับ
ปรีดา: ครับพี่ผมเองก็พึ่งทราบครับเป็นความรู้ของผมด้วยครับ
ทนายดุสิต: ใช่ครับ
คดีอาญาหากโจทก์ “สืบแล้วให้เป็นข้อสงสัย” ศาลท่านก็จะยกประโยชน์ให้จำเลยไป
แต่คดีของคุณปรีดา มันไม่ใช่เรื่องสงสัยเพราะศาลท่านมองว่าเรามีประจักษ์พยานชัดเจน
จำเลยที่ 2 เขาบอกว่าเขาได้ยินมาจริง และเราก็ไปแจ้งความจริง
ตำรวจขอให้ถอนเราก็ถอนเพื่อให้เห็นแก่ความสงบสุขของบ้านเมืองแล้วเราก็ถอนเรื่องออก
แต่กลายเป็นว่าฝ่ายโจทก์ที่ฟ้องคุณปรีดาจะมีเจตนาอะไรอยากได้เงินได้ทองอะไรถึงได้มาฟ้องเรา
ว่าแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่
ก็เลยมาฟ้องมาเรียกค่าเสียหายจากเรา ตอนไกล่เกลี่ยต่อรองกับเราว่า รวม 2 คดี เรียกเงินถึง 7 แสนบาท ซึ่งคุณปรีดาก็ไม่ยอมอยู่แล้ว คือเรื่องของเรามันไม่ใช่ว่าสงสัยแล้วยกฟ้องเรา แต่ศาลบอกว่าเรามีประจักษ์พยานชัดเจนว่าข้อควาที่แจ้งเป็นความจริง
และข้อความที่จำเลยที่ 2 ได้ยินมาก็เป็นความจริงครับ
ปรีดา: ผมอยากให้พี่ดุสิตได้ฝากอะไรให้กับคนพิการและไม่พิการด้วยครับ
ทนายดุสิต: ได้ครับ
ในแง่ของคนพิการผมก็อยากให้คนพิการมาร่วมอุดมการณ์กับคุณปรีดา ลิ้มนนทกุล
เนื่องจากคุณปรีดาเป็นคนที่ต่อสู้เรียกร้องให้กับคนพิการจริง ต่อสู้กับการทุจริต
หากมาร่วมกันต่อสู้ก็จะทำให้งบประมาณที่มาจากภาครัฐก็ดี จากภาคเอกชนก็ดี
จะได้ถูกใช้ให้กับคนพิการอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่รั่วไหลครับ
และในส่วนของคนที่ไม่พิการอยากให้ช่วยสนับสนุนคุณปรีดา
ลิ้มนนทกุล
ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการเพื่อคุณปรีดาต่อสู้อย่างจริงใจกับคนพิการต่อไป
โดยอาจจะช่วยกันในการบริจาคเป็นสิ่งของหรือเป็นเงินเพื่อที่จะนำไปช่วยเหลือคนพิการด้วยครับ
ปรีดา: ผมขออนุญาตพี่ดุสิต
ในการขึ้นเบอร์มือถือ 081-410-3518 (LINE)
เผื่อมีใครต้องการให้พี่ดุสิตว่าความคดีต่างๆ
เพราะส่วนตัวประทับใจกับวิธีการทำงานของพี่ดุสิตอย่างมากครับ
ที่ทำการบ้านอย่างหนักก่อนขึ้นว่าความ พี่ศึกษากฎหมายของคนพิการจริงจัง
ผมคิดว่าในประเทศไทย คงมีทนายไม่กี่ท่านที่จะมีความรู้เรื่องกฎหมายคนพิการ
ผมคิดไปถึงสถานประกอบการด้วยนะครับ สามารถขอคำปรึกษาพี่ได้ด้วยครับ
ทนายดุสิต: ครับได้ครับ
ผมเองก็ได้ทราบได้รู้จุดอ่อนจุดแข็งของรายละเอียดที่เกี่ยวกับคนพิการจากคุณปรีดา
ด้วยนะครับ
ปรีดา: ครับพี่ดุสิต
พวกเราคนพิการและครอบครัว เราก็ถือกันแล้วละครับว่า พี่ดุสิต
เป็นทนายของเครือข่ายเราอีกท่านหนึ่ง
เรากำลังพยายามทำให้เครือข่ายของเราให้แข็งแรง ยั่งยืน ซึ่งในอนาคตก็จะสามารถจัดตั้งเป็นองค์กรและเมื่อมีความแข็งแรงมั่นคงมีความพร้อม
ก็จะได้เชิญพี่ดุสิตมาร่วมเป็นทนายและที่ปรึกษาให้เครือข่ายเราแบบเต็มตัวอีกท่านด้วยนะครับ
ทนายดุสิต: ยินดีครับ
ยินดีมากครับ เพราะส่วนหนึ่งผมก็มีต้นทุนความรู้ด้านกฎหมายและมาได้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิต่างๆ
ของคนพิการที่ควรได้รับจากคุณปรีดา คุณปรีดาได้ชี้ช่องทางไว้ ชี้หลักปฏิบัติไว้
ผมไม่อยากให้ความรู้ในด้านสิทธิ ด้านคนพิการ ที่ควรได้รับจากแอกชนและรัฐ มันสูญหายไป
ผมจึงยินดีที่จะให้คำปรึกษาทั้งกับคนพิการ หน่วยงานภาครัฐ สถานประกอบการ
ที่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ซึ่งประเทศไทยเราควรมีการแก้ไขข้อกฎหมายให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วยครับ
ปรีดา: ผมขอให้พี่ดุสิตได้ฝากข้อคิดสำหรับคนพิการด้วยนะครับ
ทนายดุสิต: ผมอยากให้คนพิการมีความรู้ด้านสิทธิด้านประโยชน์รวมถึงกระบวนการเข้าถึงสิทธิ์จากภาคเอกชน
ผมไม่อยากให้คนพิการที่มีความรู้สึกว่าตัวเองเมื่อพิการแล้วด้อยสิทธิ์
มองตัวเองว่าด้อยโอกาส ไม่สามารถหาความรู้ได้ แม้ว่าจะพิการเชิงกายภาพ
แต่ไม่ควรพิการในแง่ของสภาวะจิตใจ แต่สมองเรายังสมบูรณ์ จิตใจเรายังสมบูรณ์
คนพิการก็จะไม่รู้สึกด้อยค่า มีกำลังใจที่จะเรียนรู้
ปัจจุบันมีคอมพิวเตอร์ก็สามารถที่จะเรียนรู้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตออนไลน์ได้ ดังนั้นการทำงานของคนพิการกับไมพิการในปัจจุบันนี้แทบไม่ต่างกันเลย
ผมก็อยากให้คนพิการมาร่วมกันปกป้องสิทธิต่างๆ
ของตัวเองผ่านเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ
ปรีดา: ผมต้องขอขอบพระคุณพี่ดุสิต
อย่างสูงนะครับ ที่ได้ให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ
ผมทำบทความสัมภาษณ์เสร็จแล้วผมส่งให้พี่อ่านนะครับ
ผมขอบพระคุณอย่างสูงอีกครั้งครับ
สำหรับทนายอีกท่าน
คือ ทนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและทนายประจำเครือข่าย พพ.
ของเราอีกท่าน ที่มีประวัติน่าสนใจด้วยเช่นกันครับ พวกเราสมาชิกเครือข่าย พพ. ทุกคนต้องขอบพระคุณ
ทนายดุสิต สุวรรณวงศ์ เป็นอย่างสูงที่ได้ใช้วิชาชีพว่าความให้กับคดีต่างๆ
ของเครือข่าย พพ. ของเราอย่างสุดความสามารถครับ
ด้วยความเคารพ
นายปรีดา
ลิ้มนนทกุล
(คนพิการมืออาชีพ)
086-314-7866
(LINE)
ปธ.เครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ
93/43
ม.1 ต.พิมลาราช อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 11110
โทรศัพท์
02-571-4822 โทรสาร 02-571-4822
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น